ทางม้าลาย
แบบตัวอักษรชุดนี้เกิดขึ้นจากการร่วมงานกับ Headache Stencil เพื่อนำไปพ่นงาน “จงเหยียบย่ำ” บนถนนราชดำเนิน ในการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เจตนาคือต้องการตัวอักษรที่หนักแน่น ทรงแคบ เพื่อเหมาะจะใช้เป็นแถบสีเหมือนกับทางม้าลาย มีรอยบากและรอยตัดที่ทำให้ใช้ทำบล็อคสเตนซิลได้สะดวก หากพิมพ์ติดกันจะได้ข้อความที่เสียงดังฟังชัด แม้จะมีพื้นที่ว่างระหว่างตัวอักษรคับแคบชวนอึดอัด แต่ก็ประหยัดพื้นที่ในการพิมพ์ข้อความยาวๆ และหากเว้นวรรคทุกตัวอักษร จะได้ช่องไฟที่สบายตาขึ้น เหมาะสมกับการเป็น “ทางม้าลาย” อย่างดี
เราตั้งชื่อฟอนต์นี้ว่า “ทางม้าลาย" นอกจากจะเป็นการล้อกับการพ่นงานบนพื้นถนนให้คนเดินข้ามแล้ว เรายังพบว่ามีความหมายที่สอดคล้องกับสภาพการเมืองไทย กล่าวคือ แม้ทางม้าลายเป็นสัญลักษณ์จราจรสากล ที่มอบความปลอดภัยให้กับผู้เดินถนน ไม่ว่าจะเป็นยานพาหนะใดๆ ที่ยังเคารพกฎหมาย เคารพสวัสดิภาพของประชาชน ต้องหยุดให้คนที่ทางม้าลายก้าวข้ามไปก่อน จึงจะไปต่อได้ แต่กลับไม่ศักดิ์สิทธิ์ในสังคมไทย เพราะยังมีข่าวอุบัติเหตุรถชนคนข้ามทางม้าลายให้เห็นอยู่หลายครั้ง เช่นเดียวกับการแสดงความเห็นทางการเมืองในประเทศนี้ ที่กลายเป็นเรื่องอันตราย สร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยให้กับผู้แสดงออก
สามารถโหลดไปใช้งานได้ฟรี! ที่นี่
ภาพทางม้าลายศักดินา บนถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563
จากแนวคิดของการก้าวข้ามศักดินาโดยตัวแทนประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหว ทำให้เราได้เริ่มแคมเปญแรก คือ “ทางม้าลายชาลเลนจ์”
ฟอนต์ทางม้าลาย ถูกใช้ในงานพ่นขนาดใหญ่อีกครั้ง ที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 (ภาพถ่ายโดย Foto_momo)