ตัวอักษรกับนัยยะทางการเมือง

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2565 มีการจัดกิจกรรมเสวนา “อยากจะม็อบ ขาดพร็อพได้ไง” ที่ Kinjai Contemporary ภายในงานนิทรรศการของ พิพิธภัณฑ์สามัญชน โดยเราได้ไปร่วมสนทนากับ Phar นักออกแบบภาพประกอบและมือกราฟิกจาก iLaw และคุณเอเลียร์ ฟอฟิ จากกลุ่มศิลปะปลดแอก ดำเนินรายการโดย อานนท์ ชวาลาวัณย์ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์สามัญชน

มีเนื้อหาส่วนหนึ่งที่ทางผู้จัดขอให้เตรียมมา แต่ไม่ได้พูดให้ครบในงาน คือ “ตัวอักษรกับนัยยะทางการเมือง” จึงขอนำเนื้อหาและสไลด์บางส่วนมาเผยแพร่ที่นี่

“Font is branding.” - เมื่อแบบตัวอักษรคือนำ้เสียงของแบรนด์

ในโลกปัจจุบัน การสื่อสารจากแบรนด์อยู่ในทุกพื้นที่รอบตัว คนเราจดจำแบรนด์ได้จากหลายองค์ประกอบ ตั้งแต่สิ่งที่ชัดแจ้งมากๆ เช่น โลโก้ และมักจะตามมาด้วยสี บางแบรนด์อาจจะมีองค์ประกอบทางกราฟิกอื่นๆ มาร่วมทำงานด้วย แต่แบบตัวอักษรที่แบรนด์นั้นใช้ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนจดจำน้ำเสียงของแบรนด์ได้ แม้ว่าจะไม่ต้องมาองเห็นโลโก้ หรือสีของแบรนด์

หากมองว่าแนวคิดทางการเมืองก็เป็นแบรนด์ที่ต้องใช้การสื่อสารในทุกรูปแบบเช่นกัน ตัวอักษรก็อาจจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ได้ แต่คำถามคือ “ในแบบตัวอักษร มีนัยยะทางการเมืองซ่อนอยู่ได้หรือไม่?”

น่าสังเกตว่า สิ่งหนึ่งที่รัฐซึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จทำได้ดี และเท่มาก คือการสื่อสารด้วยภาพ เราจะเห็นงานออกแบบสื่อโฆษณาชวนเชื่อแนวปลุกใจรักชาติของหลายประเทศที่มีสไตล์โดดเด่นชัดเจน ไมว่าจะเป็นจีน, รัสเซีย, เกาหลีเหนือ, อิตาเลียนฟาสซิสท์ และโดยเฉพาะนาซีเยอรมัน

เร็วๆ นี้มีการนำ design guideline ของพรรคนาซีมาเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต ในฐานะที่เป็นนักออกแบบและเคยเห็นแมนวลของหลายแบรนด์มาก่อน ต้องยอมรับว่าคำกล่าวที่ว่าพรรคนาซีคือหนึ่งในโปรเจค branding ที่ประสบความสำเร็จที่สุดของมนุษยชาตินั้นไม่ใช่เรื่องเกินเลย อยากให้ลองไปพลิกๆ ดูได้ ที่นี่

หนึ่งในองค์ประกอบที่กลายเป็นอัตลักษณ์ของความเป็นเยอรมันในความทรงจำของผู้คนจำนวนมากมาจนปัจจุบัน คือตัวอักษรแบบ blackletter ซึ่งบางครั้งเราจะเห็นแบรนด์สินค้าประเภทเบียร์ที่ไม่ได้มีกำเนิดในเยอรมัน เลือกใช้ตัวอักษรแบบนี้เพื่อสื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจว่ามีความเป็นเยอรมัน

ในขณะเดียวกันที่ประเทศไทย วิธีการเขียนตัวอักษรแบบลากเส้นแล้วยก ด้วยเครื่องมือปากกาหัวตัด ถูกนำมาใช้กับภาษาไทยจนเกิดเป็นแบบตัวอักษรแบบ “นริศ” ที่ถูกคิดค้นโดยสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ อ.สันติ ลอรัชวี ได้เขียนถึงการเดินทางของแบบตัวอักษรนี้จากการใช้งานในราชสำนักและพิธีกรรมทางศาสนา จนมาแพร่หลายในสังคมของสามัญชนไว้อย่างน่าสนใจ ที่นี่

ตัวอักษรบนหมุดคณะราษฎร 2475 ที่ถูกเผยแพร่อีกครั้งเป็นฟอนต์ในปี 2563 ก็เป็นหนึ่งในแบบตัวอักษรที่ใช้วิธีการเขียนแบบนริศเช่นกัน

กล่าวได้ว่า ตัวอักษรแบบที่เคยใช้กันหลายประเทศในยุโรป ถูกนาซีเยอรมันใช้จนกลายเป็นอัตลักษณ์ประจำชาติ พอข้ามมาไทยกลายเป็นตัวอักษรที่รับใช้วัดและวัง ก่อนจะกลายเป็นของประชาชนที่มาเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตย

ในกรณีนี้จะเห็นว่า แบบตัวอักษรไม่ได้มีความเป็นการเมืองในตัวของมันเอง แต่อยู่ที่ใครเอาไปใช้ แล้วเกิดภาพจำจนสร้างความเชื่อมโยงกับแนวคิดทางการเมืองในภายหลัง

อย่างไรก็ดี มีตัวอักษรที่เจตนาในการออกแบบตั้งใจให้มีความเป็นการเมืองเช่นกัน เช่น โครงการ 9 ตัวพิมพ์ไทยเพื่อพ่อ จัดโดยสหพันธ์อุตสาหกรรมการพิมพ์ เมื่อปี 2560 ซึ่งจัดประกวดออกแบบฟอนต์จนได้ผู้ชนะมา 9 แบบ และมีเอกสารอธิบายที่มาและแรงบันดาลใจของแต่ละตัว ดังนี้

ในความเห็นของเรา หากตัดสินกันเฉพาะจากแบบ โดยไม่ทราบถึงบริบทที่มาของทั้ง 9 ฟอนต์นี้ ผู้ใช้งานก็อาจจะไม่รับรู้นัยยะทางการเมืองในตัวอักษรชุดนี้

แม้แต่ “33712” ผลงานของเราก็เช่นกัน ถ้าผู้ชมไม่รู้ที่มาของกราฟวงกลมที่เป็นจุดตั้งต้นในการออกแบบ ก็อาจจะมองว่ามันคือการเล่นสนุกกับการสร้างตัวอักษรไทยด้วยรูปเรขาคณิตเท่านั้น

สำหรับทุกท่านที่รู้จักผลงานของเรา คงจะรู้ดีว่าฟอนต์ทางม้าลาย มีเจตนาในการออกแบบอย่างไร และถูกนำไปใช้สร้างผลงานแบบใดบ้าง ภาพจากทางบ้านที่ส่งมาให้ดูก็เป็นผลงานที่มีแนวคิดทางการเมืองไปในทางเดียวกัน

คำถามคือ ถ้าคุณไม่รู้จักฟอนต์นี้มาก่อน คุณจะเลือกใช้มันสร้างงานชิ้นนี้ โดยตัดสินจากความเหมาะสมทางรูปลักษณ์หรือไม่? 😉

อย่างไรก็ดี แม้ว่าแบบตัวอักษรด้วยตัวมันเองอาจจะสื่อสารถึงนัยยะทางการเมืองไม่ได้ แต่ถ้าเรามองลึกลงไปอีกขั้นว่าคุณค่าที่อุดมการณ์นั้นยึดถือ และเชิดชู คืออะไร ก็สามารถนำมาเป็นส่วนผสมในการออกแบบตัวอักษรที่เหมาะกับการสื่อสารเพื่อทำงานให้แนวคิดดังกล่าวได้

เราขอยกกรณีศึกษาจากงานออกแบบปกซิงเกิล #บ้านเกิดเมืองนอน สองเวอร์ชัน คือ “บ้านเกิดเมืองนอน 2564” และ “บ้านเกิดเมืองนอน” โดย Rap Against Dictatorship

อักษรประดิษฐ์ของ “บ้านเกิดเมืองนอน 2564” โดยสื่อฝ่ายขวา (ภาพทางซ้าย) มีความสวยงามแบบอ่อนโยน ชดช้อย สอดคล้องไปกับเนื้อหาเพลงปลุกใจสมัยสงครามเย็นที่เชิดชูความดีงามของบ้านเมืองและการมีเชื้อชาติไทยอันบริสุทธิ์ ในขณะที่ “บ้านเกิดเมืองนอน 2022” สะท้อนเนื้อเพลงที่รวบรวมเอาทุกปัญหาความไม่ชอบธรรมในสังคมไทยมาตีแผ่อย่างดุดันและเกรี้ยวกราด ถูกออกแบบให้มีโครงสร้างตัวอักษรหนักแน่น ใช้เส้นตรง และ texture หยาบของการปะเทป

ที่ด้านขวาบนของตัวอักษรบนทั้งสองปก มีธงชาติไทย ซึ่งตอนที่เราออกแบบ lettering ชุดนี้ เราไม่ได้ตั้งใจจะใส่ธงชาติเข้าไป แต่ตอนเลือกภาพนิ่งจากวันถ่ายทำมิวสิกวีดิโอมาทำปก เราคิดว่าภาพนี้เหมาะสมที่สุด เพราะการที่ธงชาติไทยฝั่งนึงปลิวไสว อีกฝั่งหนึ่งลดลงครึ่งเสา คือการสะท้อนมุมมองที่ตรงข้ามกันของอุดมการณ์ทางการเมืองสองฝั่งผ่านงานออกแบบได้ดังที่เพจ “ออกแบบเพื่อชีวิต” เรียกว่า #บ้านคนละบ้าน ได้เป็นอย่างดี

Next
Next

WHATEVER STICKER